สาวๆ รู้กันไหมว่า…
ผู้หญิงหนึ่งคน ที่มีประจำเดือนมาปกตินั้น
ได้สร้างขยะพลาสติกที่เรียกว่า “ผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้ง”
…ฝากทิ้งไว้บนพื้นโลกกว่า 1 6 , 0 0 0 ผืน
โดยที่ขยะนั้นไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ . . .
ผ้าอนามัยนั้นเป็น “สิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้” สำหรับผู้หญิงอย่างเรา ด้วย “ความเคยชิน” เราจึงไม่ได้ศึกษาและไม่ได้มีการให้ความรู้ในเรื่องของ “ผ้าอนามัย” และ “ประจำเดือน” มากนัก เรามีเพียงความเชื่อที่ถูกส่งต่อกันมาตั้งแต่สมัยก่อน ทำให้เรื่องราวของ “สิ่งจำเป็น” นี้กลายเป็นเรื่องน่าอาย และผู้คนไม่ค่อยจะพูดถึงเท่าที่ควร เราจึงไม่ได้คำนึงถึงวัสดุที่ใช้ทำผ้าอนามัยตามท้องตลาดมากนัก ซึ่งปกติแล้วมักถูกผลิตขึ้นจาก “พลาสติก” ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและ “สารเคมี” ที่ทำให้ประจำเดือนเกาะตัวเป็นก้อน กลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ก่อให้เกิดกลิ่นอับชื้นไม่พึงประสงค์ และสร้างความระคายเคืองให้กับ “จุดซ่อนเร้น” ของเราอีกด้วย
…ถ้าอย่างนั้นเรามีทางเลือกอะไรอีกบ้าง ?
เพื่อให้สาวๆ ได้ลองเปิดใจกับทางเลือกใหม่ของผ้าอนามัยที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม ลดการสร้างขยะ และการสัมผัสสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในอนาคต ทีมงาน Pinkoi จึงชวน “คุณจอย” วิริญา มานะอนันตกุล เจ้าของแบรนด์ผ้าอนามัยแบบผ้า Little LouLou มาบอกเล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับแบรนด์และผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมของเธอ ประสบการณ์และมุมมองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่การใส่ใจและรักษ์โลกนั้นเริ่มต้นง่ายๆ ได้จากสิ่งใกล้ตัวผู้หญิงอย่างเราที่สุด ซึ่งนั่นก็คือ “ผ้าอนามัย” นั่นเอง !
The beginning of Little Loulou House
มันก็เป็นคำถามในใจตัวเองมาตลอด 4-5 ปี ในช่วงที่ทำงานประจำนะ
เราก็พยายามค้นหาแหละ ว่าจริงๆ แล้วเราอยากทำอะไรกันแน่
เราเกิดมาเพื่อทำอะไร ?
ก่อนที่คุณจอยจะหันมาทำแบรนด์ผ้าอนามัยซักได้ Little Lou Lou เธอเคยทำงานประจำเป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์มาก่อน และด้วยความชอบด้าน Branding, Visual Identity, Typography และ Packaging design ทำให้เธอคิดอยู่ตลอดว่า งานประจำที่เธอทำอยู่ไม่ได้ตอบโจทย์ความชอบของเธอเลย
คุณจอยจึงได้ลองทำหลายๆ อย่าง ตั้งแต่การลงมือทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองอย่างจริงจัง เริ่มต้นออกเดินทาง ไปท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้โลกภายนอก เป็น Travel Blogger และสุดท้ายตัดสินใจพาตัวเองไปใช้ชีวิตที่เยอรมันกว่า 8 เดือน ประสบการณ์เหล่านั้นทำให้เธอได้พัฒนาตัวเอง ทั้งด้านแนวคิด และมุมมองต่างๆ ที่ทำให้เธอเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนดื่มนมในทุกๆวัน ..ทำให้เธอเป็นเธอในวันนี้
“เราเห็นภาพความสัมพันธ์ของทุกสิ่งบนโลกในระยะที่ชัดเจนขึ้นมาก ..เราหันมาหวงแหนทรัพยากรโลก เข้าใจ และมองเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันทั้งหมด การกระทำของเราอย่างหนึ่งสามารถกระทบไปถึงผู้คนอีกฟากหนึ่งของโลกได้ ลองนึกภาพแค่เรากินข้าวไม่หมดมื้อหนึ่ง มันอาจจะสามารถทำให้ปลาในแม่น้ำตายได้เลยนะ !”
รูปถังขยะด้านขวามือ คือช่วงที่คุณจอยไปอยู่เยอรมันแล้วที่บ้านเธอมีการแยกขยะง่ายๆ ประมาณนี้
ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นการเข้าใจคำว่าขยะจริงๆ
.
การหันมาคำนึงและดูแลสิ่งแวดล้อมโลกของเราไม่ใช่เรื่องยาก แค่เริ่มที่ตัวคุณเอง คุณจอยเริ่มจากการ “ลดการใช้ขยะแบบใช้แล้วทิ้ง” ไม่ใช่แค่พลาสติกแต่รวมไปถึงกระดาษด้วย เธอหันมาแยกขยะในบ้านแบบจริงจัง แล้วนำไปขายเพื่อการรีไซเคิลที่ถูกต้อง และทำความเข้าใจว่าคำว่า “ขยะ” มากขึ้น
“มุมมองเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในช่วงแรกที่เราเริ่มแยกขยะ เราเข้าใจว่า ขยะก็คือขยะ เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น และควรแยกขยะให้ถูกต้อง …แต่ทุกวันนี้ เราเริ่มมองว่า ขยะมันจะไม่ใช่ขยะเลย ถ้าเราไม่ทำให้มันเป็นขยะ …หลังจากนั้น เรารู้สึกว่าเราสามารถช่วยโลกได้มากกว่าแค่การแยกขยะ เช่น ในวันธรรมดาวันหนึ่ง เราทำธุระส่วนตัวอยู่ในห้องน้ำ แล้วหันไปเห็นถังขยะใบเล็กข้างๆ ตัวเองแล้วก็คิดว่า “นี่แหละ เราจะหันมาใช้ผ้าอนามัยซักได้ !” เราจะเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัวนี่แหละ …และจากการทดลองใช้เอง พบเจอปัญหา จนอยากลงมือทำ ผ้าอนามัยแบบซักได้ ขึ้นมาเอง จนพัฒนามาเป็นสิ่งที่เราอยากตื่นขึ้นมาคลุกคลีอยู่กับงานนี้ในทุกๆ วัน”
คุณจอยเล่าอย่างภูมิใจพร้อมรอยยิ้มแห่งความปิติ ถึงปณิธานของแบรนด์ผ้าอนามัยซักได้ Little Loulou ที่ตั้งใจจะสร้างขยะจากขั้นตอนการผลิตให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบและผลิตขึ้นมาจะเป็นสิ่งที่ใช้ได้นานและคนไม่ค่อยผลิต เช่น ผ้าอนามัยซักได้หรือทิชชู่ซักได้
“เรารับแก้ไข รับซ่อม รับเปลี่ยนหรือรับทิ้งให้ถูกวิธีด้วย
เพราะเราไม่อยากสร้างภาระให้กับโลกใบนี้“เราใช้ กล่องพัสดุมือสอง ที่รับบริจาคมาหรือที่มีอยู่ในบ้าน
เช่น พวกกล่องน้ำยาคอนแทคเลนส์ หรือกล่องพัสดุสีน้ำตาลต่างๆ
ที่ยังมีสภาพที่ดี จัดส่งให้กับลูกค้า เพื่อ Reused
และลดการสร้างขยะให้มากที่สุด “
Loulou reusable cloth pads set
.
Why “Little LouLou House” ?
ชื่อของเด็กน้อยน่ารักและจิตใจดีคนหนึ่งที่คุณจอยรู้จักได้กลายมาเป็นชื่อแบรนด์ของเธอ “Little Loulou House” เพราะเธอรู้สึกเหมือนได้สร้างบ้านหลังหนึ่งเพื่อมองดูเด็กน้อยคนนั้นเติบโตไปเรื่อยๆ อยากให้เค้าเป็นเด็กที่คิดถึงสังคม คิดถึงสิ่งแวดล้อม มากกว่าแค่ความสุขส่วนตัวเท่านั้น
3 สาเหตุหลักที่อยากให้สาวๆ ทุกคนหันมาใช้ผ้าอนามัยซักได้
1# เพื่อสุขภาพของตัวเอง
ผ้าอนามัยตามท้องตลาดที่สาวๆ ใช้กันทั่วไป ผลิตจาก “พลาสติก” ซึ่งมีสารเคมีมากมายที่สามารถซึมเข้าสู่ร่างกายได้ โดยที่ทางองค์กร Woman’s Voice for the Earth ค้นพบว่า ผ้าอนามัยเกือบทุกยี่ห้อ มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น Styrene, Chloromethane, Acetone, Chloroform, Chloroethane และเมื่อสารเคมีเหล่านี้สัมผัสกับน้องสาวของเรา และสะสมมากขึ้นๆ ในร่างกายของเรา สามารถก่อให้เกิดมะเร็งหรือสามารถทำลายระบบสืบพันธุ์ได้เลยนะ !
ผ้าอนามัยแบบผ้าของ Little Loulou House เป็นผ้า Cotton 100% ผิวสัมผัสนุ่มสบาย ซักง่าย ไร้สารเคมี และมีผ้าชั้นกันน้ำที่เคลือบ Polyester แบบระบายอากาศได้ ทั้งยังช่วยลดการสะสมตัวของแบคทีเรียเมื่อใส่นานๆ อีกด้วย
ทุกคนจะได้รับรู้หลังจากได้ลองใช้งานว่า จริงๆ เลือดประจำเดือนของเราไม่ได้มีกลิ่นเหม็นแต่อย่างใด แต่ที่เราได้กลิ่นของเลือดที่อับชื้นลอยขึ้นมาเตะจมูกให้รู้สึกรำคาญใจทุกครั้งนั้น มีสาเหตุมาจากการใช้ผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งตามท้องตลาด ซึ่งแม้จะมีการโฆษณาต่างๆ นานา ว่าช่วยลดกลิ่นอับชื้น แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่ได้ช่วยอะไรมากขนาดนั้น เพราะทำมาจากพลาสติก และนอกจากจะอับชื้นแล้วก็ยังมีเรื่องของการที่น้องสาวเราสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง แล้วเกิดอาการ “แพ้สารเคมี” ทำให้เกิดอาการ “คัน” ตรงนั้นอีก ซึ่งไม่ใช่ความผิดของเราเลย แต่เป็นความผิดของสารเคมีที่ใช้ผลิตผ้าอนามัยตามท้องตลาดนั่นแหละ ที่ไม่เป็นมิตรกับผิวของน้องสาวเราสักนิด ! ยิ่งผ้าอนามัยที่ราคาถูก ก็ยิ่งมีคุณภาพที่ต่ำลง ก็อาจก่อให้เกิดการเสียดสีจนเกิดบาดแผลได้อีกด้วย !
2# เพื่อการประหยัดเงินในระยะยาว
ราคาเฉลี่ยของผ้าอนามัยจะอยู่ที่ประมาณ 8-10 บาทต่อชิ้น (ผ้าอนามัย 1 ห่อมีราคาประมาณ 40-80 บาท แบบสอดประมาณ 80-100 บาท) ซึ่งมีการใช้งานโดยเฉลี่ยที่ประมาณ 12-25 แผ่นต่อเดือนขึ้นอยู่กับบุคคล ปกติแล้วผ้าอนามัยควรเปลี่ยนทุกๆ 2-3 ชั่วโมงเพื่อสุขอนามัยที่ดี ทำให้เราต้องใช้ผ้าอนามัยถึง 7 แผ่นต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่อาจไม่ได้เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยขนาดนั้น และปกติในหนึ่งเดือน ประจำเดือนจะมาประมาณ 4-7 วัน ดังนั้นเราจะมีค่าใช้จ่ายของผ้าอนามัยประมาณ 200 บาทต่อเดือนขึ้นอยู่กับบุคคล
ผ้าอนามัยแบบผ้า สามารถซักได้ง่าย และใช้งานได้เป็นเวลานานอย่างน้อย 5 ปีเลยทีเดียว (ราคาประมาณ 2-3 พันบาทต่อหนึ่งเซ็ท) เมื่อเปรียบเทียบด้วยระยะเวลาการใช้งานที่ 5 ปีเท่ากันกับการใช้งานผ้าอนามัยพลาสติกตามท้องตลาด เราต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกว่า 6,000-12,000 บาท พร้อมกับการสร้างขยะกว่า 1,500 ชิ้น ! เพราะฉะนั้นการใช้งานผ้าอนามัยแบบผ้า นอกจากการช่วยลดการสร้างขยะพลาสติกแล้ว ยังสามารถประหยัดเงินได้มากขึ้นในระยะยาวอีกด้วย แม้ผู้หญิงบางส่วนจะคิดว่าผ้าอนามัยแบบผ้ามีราคาแพง แต่เมื่อเทียบกับระยะเวลาการใช้งานแล้ว ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากจริงๆ
3# เพื่อช่วยลดขยะบนโลกใบนี้
ผู้หญิงหนึ่งคนที่มีประจำเดือนมาปกตินั้น ได้สร้างขยะพลาสติกที่เรียกว่าผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้ง ฝากไว้บนพื้นโลก (และมหาสมุทร) กว่า 16,000 แผ่น โดยที่ขยะนั้นไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ …ผลการวิจัยจาก European commission ได้เผยว่า ผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งตามท้องตลาด เป็น Top 5 ของปริมาณขยะพลาสติกที่ถูกพบในมหาสมุทร ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 600 ปีในการย่อยสลายเลยนะ ! ตายแล้วเกิดใหม่ยังไม่รู้เลยว่าย่อยไปแล้วหรือยัง T_T เป็นขยะชนิดที่ต้องถูกส่งไปกำจัดในอุณหภูมิที่เหมาะสมหรือทำปุ๋ยฝังกลบเท่านั้นถึงจะย่อยสลายได้ !
ผลการศึกษาเรื่องขยะพลาสติกจาก Ellen Macarthur foundation คาดการณ์ว่า ในปี 2050 จะมีปริมาณขยะพลาสติกในทะเลมากกว่าจำนวนปลาเสียอีก ! สงสารน้องปลานะ เราต้องหันมาคิดเรื่องนี้กันอย่างจริงจังได้แล้วนะสาวๆ !!
Little Loulou House ผลบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้หญิง
“สิ่งแรกที่เรารับรู้ได้ตั้งแต่เริ่มทำแบรนด์ผ้าอนามัยซักได้ Little Loulou House เลย คือ มีผู้หญิงเยอะมากๆ ที่แพ้ผ้าอนามัย หรือมีภาวะประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ จนทำให้เกิดภาระทางการเงินที่ต้องซื้อผ้าอนามัยค่อนข้างสูง มีทั้งลูกค้าที่มาขอบคุณเพราะผ้าอนามัยของเรา ทำให้เค้าใช้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น ไม่แพ้ ไม่คันและระคายเคืองอีกต่อไป ประหยัดเงินและเวลามากขึ้นด้วย !
สิ่งที่สองคือนอกจาก Little Loulou จะได้ช่วยผู้หญิงหลายๆ คน แล้วเราทุกคนเหมือนได้ช่วยสิ่งแวดล้อมไปด้วย มีลูกค้าหลายคนที่พิมพ์มาบอกจอยว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยลดขยะ ทั้งจากการใช้ตัวสินค้าเองและพัสดุ reused ที่ทางแบรนด์ส่งไปให้ และยังช่วยแชร์กันต่อๆ ไปอีก อยากขอบคุณลูกค้าทุกคนผ่านมาทางนี้ ที่ช่วยกันสร้างความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”
คุณจอยตั้งใจที่จะพัฒนาแบรนด์ Little Loulou ให้เป็น “Circular business” แบบ 100% คือ “วัสดุและทรัพยากรทุกชิ้นสามารถบรรจบและหมุนเวียนเป็นวงจรที่ไม่สร้างขยะอีกต่อไป” และนอกจากนั้นทางแบรนด์ยังตั้งใจที่จะทำศูนย์ช่วยเหลือผู้หญิงที่ไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้ และอยากสร้างทายาทของ Little Lou lou ต่อๆ ไป เพื่อช่วยกระตุ้นและเผยแพร่เรื่องสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ช่องทาง
Little Loulou cloth pads – Santa Loulou
.
ขั้นตอนการออกแบบ สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม
แต่ละคอลเลคชั่นคิดไม่เหมือนกันเลยค่ะ
บางรุ่นเดินไปที่ร้านขายผ้าแล้วคิดจากลายผ้าที่มีเลย
บางครั้งนั่งอยู่ที่ร้านเป็นชั่วโมงๆ ~
เพื่อดูว่าชอบสีไหนแล้วมันจะเข้ากับสีไหน
แล้วคอลเลคชั่นนั้น อยากพูดเรื่องอะไรหรือเอาธีมอะไรมาเล่นค่ะ
“จะมีคอลเลคชั่นหลังๆ เราเริ่มคิดจากปัญหาที่มีในสังคมหรือสิ่งที่เราอยากพูดเพื่อกระตุ้นปัญหาเหล่านั้นให้คนมองเห็น หรือบางทีแค่อยากบอกออกไปว่า เราสนับสนุนพวกเค้านะ เช่นรุ่น LOULOU PRIDE ที่เราแค่อยากเป็นอีกกระบอกเสียงหนึ่งในสังคมที่สนับสนุนเรื่องนี้ เพราะเราต้องการให้สังคมมีความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพสำหรับทุกคนจริงๆ
“ส่วนรุ่น LOULOU BEACH & SEA มาจากการที่เราชอบไปทะเลมากๆ ไปทุกครั้งเราก็พยายามเก็บขยะที่ทะเลมาตลอด รอบนี้เลยเก็บขยะจากเกาะพะงันมาคิดคอลเลคชั่นใหม่และใช้เป็นพรอพด้วยเลย ประหยัดพรอพ และนำกลับมาทิ้งให้ถูกที่ถูกทางด้วยค่ะ”
Pride Collection – คอลเลคชั่นที่รู้สึกภูมิใจที่สุด
” จริงๆเราชอบทุกคอลเลคชั่นที่เราทำมาเลย เพราะเราใส่วิญญาณ ใส่พลังในทุกๆขั้นตอนที่เราทำจริงๆ ..เรามีความสุขทุกครั้งตอนถ่ายแบบเสร็จ ยิ่งเวลาได้โพสคอลเลคชั่นใหม่ๆ หัวใจจะชุ่มช่ำมากๆ เพราะเราให้พลังกับมันไปทั้งหมด พอมันออกมาเป็นรูปเป็นร่างเลยจะภูมิใจกับตัวเองหน่อยๆ ลูกค้าจะซื้อไม่ซื้อค่อยว่ากันค่ะ 😀 “
“แต่ถ้าถามถึง Collection ที่ภูมิใจจริงๆ คงจะเป็น PRIDE COLLECTION เพราะได้มีการนำไปแจกที่ม๊อบค่ะ เราอยากสนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการพูดและการแสดงความคิดเห็นอยู่แล้ว เราเลยตั้งใจนำรุ่นนี้ไปแจกฟรีเลย ได้เจอลูกค้าตัวเองด้วย เพื่อนใหม่ๆ ที่สนใจหรือสงสัยก็ได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนกันเยอะเลยค่ะ”
ภาพตอนที่คุณจอยนำผ้าอนามัยซักได้ Little Loulou – Pride collection
ไปแจกฟรีให้กับผู้ร่วมชุมนุม เพื่อสนับสนุนเสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็น
.
Covid-19 และผลกระทบกับแบรนด์และการออกแบบ
Covid-19 ไม่ได้มีผลกระทบกับทางแบรนด์มากนัก เพราะเน้นจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งในช่วงที่โควิดระบาด คุณจอยก็ดูแลตัวเอง รักษาความสะอาด และส่งสินค้าให้ลูกค้าด้วยความปลอดภัย
“ในทางกลับกัน ช่วง Covid เป็นช่วงที่คนชอบบอกว่า ‘ควรเก็บเงินหรือลงทุนอะไรในระยะยาว’ ดังนั้นการลงทุนกับผ้าอนามัยซักได้เป็นสิ่งที่ลูกค้าหลายคนสนใจและหันมาทดลองใช้ในช่วง Work from home กันเยอะขึ้นด้วยค่ะ”
เซ็ทผ้าอนามัยซักได้ loulou mouse
.
Little Loulou House x Pinkoi
CONVENIENT / SERVICE-MIND / WORLDWIDE
“รู้จัก PINKOI ผ่านเพื่อนที่ทำแบรนด์เสื้อผ้า ซึ่งเค้าก็ขายบน PINKOI เช่นเดียวกัน จอยตัดสินใจเปิดร้านใน PINKOI เพราะอยากเปิดตลาดในต่างประเทศมากขึ้นค่ะ และคิดว่าคนต่างชาติเข้าใจสินค้าพวกนี้ได้ดี แทบไม่ต้องตอบคำถามอะไรเลยค่ะ และ Pinkoi ก็เป็นตัวเลือกแรกๆ ที่มีระบบการดูแลหน้าบ้าน หลังบ้านที่ดี และน่าสนใจค่ะ
Pinkoi เป็นตลาดออนไลน์ที่ไม่ได้เด่นแค่เรื่อง Creative แต่เรื่องหลังบ้านและการบริการให้กับดีไซเนอร์นั้นดีสุดๆ ค่ะ ทีมงาน Pinkoi ทุกคนจะทักจอยมาบ่อยๆ เพื่อให้คำแนะนำและชวนเข้า Campaign ต่างๆ ซึ่งน่ารักมากๆ เพราะบางทีเรายุ่งจนไม่มีเวลาแม้แต่จะเช็ค notification ค่ะ ทำให้ได้เห็นโอกาสต่างๆ รายล้อมเต็มไปหมดและทีมงานคอยให้คำปรึกษาตลอดเวลาเลยค่ะ” …เมื่อคุณจอยกล่าวเช่นนี้ ทีมงาน Pinkoi ทุกคนก็ปลื้มใจหายเหนื่อยค่ะ ^^
2021 New year Resolution
” จริงๆ ความตั้งใจของปี 2021 คืออยากมีร้านที่ไทยมากเลยค่ะ ชั้นล่างขายผ้าอนามัยและทิชชู่ซักได้ส่วนชั้นบนเราอยากทำเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการแยกขยะ แต่ตอนนี้โปรเจ็คต้องพับไปเสียก่อน คิดว่าให้เวลาตัวเองเก็บเงินอีก 2 ปีค่ะ “
ตอนนี้คุณจอยกำลังวางโปรเจค LOULOU BIG SISTER ซึ่งมีความหมายตรงตัวคือ พี่สาวคนโตคนเก่งของ Little Loulou นั่นเอง โครงการนี้จะคอยช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้ทั้งในประเทศไทยและตามชายแดนที่ขาดแคลนหรือไม่สามารถเข้าถึงเครื่องอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งทางแบรนด์จะช่วยโปรโมทและระดมทุนจากผู้ที่สนใจบริจาค เพื่อนำผ้าอนามัยของทางแบรนด์ไปให้พวกเขา เพื่อสร้างความยั่งยืนกับทั้งชีวิตและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน
“ น้องๆที่จอยตั้งใจจะนำผ้าอนามัยไปให้ก่อน ส่วนใหญ่เป็นน้องๆ หรือคุณครูตามชายแดน ที่เมื่อมีประจำเดือนจะไม่สามารถออกจากบ้านได้ เนื่องจากไม่มีผ้าอนามัยใช้ค่ะ บางแห่งไม่สามารถลงภาพหรือบอกชื่อสถานที่โรงเรียนได้ (เพื่อความปลอดภัยของโรงเรียน) ซึ่งจอยตั้งใจอยากให้ผ้าอนามัย 5 ชิ้นต่อผู้หญิง 1 คน โดยทุกครั้งจอยจะบริจาคเองด้วยและเปิดรับบริจาคจากเพื่อนๆ หรือลูกค้าที่สนใจช่วยนะคะ ” …คุณจอยยิ้มและเล่าต่ออย่างภูมิใจ
ประวัติดีไซเนอร์แบรนด์ Little Lou Lou House
ชื่อดีไซเนอร์: วิริญา มานะอนันตกุล (จอย)
จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี
อย่างไรก็ตามทางเลือกสำหรับผ้าอนามัย eco-friendly ยังมีอีกมากมายเช่น “ถ้วยอนามัย” ที่อาจจะใช้ยากเล็กน้อยในช่วงแรก ต้องฆ่าเชื้อก่อนใช้งาน แต่ใช้งานได้ยาวนานที่สุดในบรรดาผ้าอนามัยทางเลือกด้วยกัน หรือผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งที่เลือกผลิตจากวัสดุจากธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ และไม่ใส่สารเคมีก็มีเช่นกัน แต่ก็จะราคาสูงขึ้นกว่าผ้าอนามัยตามท้องตลาด และอาจจะหาซื้อค่อนข้างยาก ซึ่งทุกคนสามารถเลือกใช้งานได้ตามความสะดวกของตน สำหรับบทความนี้เราเพียงนำความจริงมาตีแผ่และอยากให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ได้ตระหนักเกี่ยวกับผ้าอนามัยตามท้องตลาดที่สร้างขยะพลาสติกเป็นจำนวนมากแก่โลกใบนี้
.
ทีมงาน Pinkoi ต้องขอขอบคุณ คุณจอยที่สละเวลามาพูดคุยและแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับมุมมองเรื่องสิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
.
สวัสดีค่ะ
Pinkoi Thailand Team
===============
ข้อมูลอ้างอิง:
– What’s the Environmental Impact of Your Period?
– Always Pads Testing Results – Womens’ voices for the earth
– Reducing Marine Litter: action on single use plastics and fishing gear – EUROPEAN COMMISSION