ในปี 2023 แบรนด์ที่ผ่านเข้ารอบการประกวด Pinkoi Design Awards (PDAs) ต่างมีความโดดเด่นและหลากหลาย ผู้ผ่านคัดเลือกในแต่ละสาขารางวัลล้วนมีคุณสมบัติทั้งการออกแบบ ทางเชิงธุรกิจ และภาพลักษณ์แบรนด์ที่เหมาะสมกับสาขานั้น ๆ หนึ่งในสาขารางวัลที่ได้รับความสนใจคือสาขา Culture โดยแบรนด์ที่ผ่านเข้ารอบมาจากสองพื้นที่คือ ไต้หวันและญี่ปุ่น ที่ล้วนแล้วแต่มีความแข็งแกร่งทั้งในด้านภาพลักษณ์ การดีไซน์และงานฝีมือ ที่แปลงวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ออกมาในรูปแบบใหม่และถ่ายทอดออกมาผ่านงานออกแบบ
หนึ่งในเหตุผลของการผลักดันแบรนด์ที่ถ่ายทอดและสร้างสรรค์งานผ่านงานฝีมือและวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้น มากจากการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของ Pinkoi ขณะเดียวกันในเชิงธุรกิจนั้น กานำนวัตกรรมทางวัฒนธรรม (Cultural Innovation) มาผสมผสานกับองค์ประกอบของความเป็นท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ และเรื่องราว ตลอดจนการออกแบบที่สอดคล้องกับความงามร่วมสมัย ทำให้ผู้บริโภคได้สัมผัสถึงความหมายที่แตกต่างผ่านตัวผลิตภัณฑ์ เหมือนดั่งคำกล่าวที่ว่า “ยิ่งมีความท้องถิ่นเท่าไหร่ก็ยิ่งมีความเป็นสากลเท่านั้น” Pinkoi จึงต้องการสนับสนุนและผลักดันแบรนด์ที่สะท้อนมรดกทางวัฒนธรรมและถ่ายทอดออกมาผ่านผลงานออกแบบ
ในการประกวด Pinkoi Design Awards สาขา Culture Award ครั้งนี้ มีทีมที่ได้รับรางวัลทั้งหมด 3 ทีม ได้แก่แบรนด์ ISUNEED จากไต้หวันที่ใช้ธัญพืชควินัวสีแดงสายพันธุ์ไต้หวันเป็นส่วนผสมหลักในสกินแคร์ที่อ่อนโยนและเป็นมิตรต่อผิวเด็ก แบรนด์เซรามิก GINZA ARTWORKS tokyo จากญี่ปุ่นที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพพิมพ์แกะไม้ Hokusai และ GIAN Furniture แบรนด์เฟอร์นิเจอร์เก่าแก่ที่ก่อตั้งมานานถึง 30 ปีจากไต้หวันที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์ด้วยวัสดุและงานฝีมือท้องถิ่นของไต้หวัน
รางวัลชนะเลิศ: ISUNEED แบรนด์เอกลักษณ์โดดเด่นที่มีขึ้นเพื่อแม่และเด็ก
เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์ ISUNEED เจ้าของแบรนด์ Allen หัวเราะเบา ๆ ก่อนตอบว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเมื่อพวกเขากลายเป็นพ่อแม่ เพราะพ่อแม่มือใหม่ที่ต้องดูแลลูกน้อยที่เกิดใหม่ย่อมมีเรื่องกังวลใจไม่น้อย “สถานการณ์ของลูกในตอนนั้นทำให้เราค่อนข้างหนักใจ ทั้งอาการภูมิแพ้ หรือแม้กระทั่งการเลือกอาหารการกินต่าง ๆ”
เริ่มต้นจากการแก้ปัญหาและการได้รู้จักแบรนด์ Mr. Djulis ทำให้พวกเขาได้รู้จัก “ธัญพืชควินัวสีแดง” สายพันธุ์ไต้หวัน เมื่อศึกษาลึกขึ้นก็พบว่า หากเทียบกับควินัวทั่วไปที่ทุกคนคุ้นเคย ควินัวสีแดงนี้มีคุณค่าทางโภชนาการที่มากกว่า ให้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นในการปกป้องบำรุงในกลุ่มเด็กที่มีอาการผิวแพ้ง่าย
“ช่วงแรก ๆ ยังไม่ค่อยมีคนสกัดตัวควินัวสีแดงสายพันธุ์นี้ เราจึงได้เชื่อมโยงแบรนด์ Mr. Djulis กับโรงงาน นำเมล็ดควินัวสีแดงสายพันธุ์ไต้หวันไปศึกษาในห้องทดลองเพื่อมองหาความเป็นไปได้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ หลังจากทดลองไปหลายครั้ง ผลิตภัณฑ์ตัวแรกของ ISUNEED ก็ถือกำเนิดขึ้น” จากสกินแคร์สำหรับเด็ก พัฒนาต่อยอดจนปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับคุณแม่ด้วย คุณ Allen บอกว่า เมื่อก่อนคนส่วนใหญ่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมจากแบรนด์นำเข้า แต่ในบางครั้งแบรนด์จากต่างประเทศอาจมีเนื้อหนาเกินไปหรือไม่ตอบโจทย์สภาพผิวของคนเอเชีย ซึ่งสกินแคร์ที่ผลิตจากควินัวสีแดงนั้น นอกจากจะแก้ปัญหาผิวเด็กที่แพ้แดงบวมง่ายได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว เนื้อที่เบาบางยังเหมาะกับสภาพผิวของคนเอเชียด้วย
ตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์เมื่อปี 2019 จนถึงปัจจุบัน แบรนด์ใส่ใจทุกขั้นตอนทั้งการออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ ขายออนไลน์ ไปจนถึงแพคเกจจิ้งและการส่งออก ISUNEED เปลี่ยนบทบาทจากเดิมที่แก้ปัญหาที่ตัวเองพบเจอสู่การเติบโตในบทบาทที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ใช้ คุณ Allen แชร์ประสบการณ์การประกวด PDAs ครั้งนี้กับเราว่าสำหรับ ISUNEED รางวัลนี้ถือเป็นอีกหนึ่งกำลังใจสำคัญ โดยเฉพาะกับแบรนด์แม่และเด็กท้องถิ่นที่จะถูกหลาย ๆ คนค้นพบและรู้จักมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสพิเศษที่ดีมากสำหรับแบรนด์
“เราได้พัฒนาเทคนิคการสกัดเมล็ดตั้งแต่ปี 2022 ทำให้ประสิทธิภาพของเมล็ดธัญพืชนั้นเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งสร้างความโดดเด่นและแตกต่างให้กับแบรนด์ของเรา” คุณ Allen ยังบอกอีกว่า ISUNEED จะยังคงสำรวจความต้องการของแม่และเด็กต่อไป ขณะเดียวกันในด้านการตลาดกลุ่มสกินแคร์แม่และเด็ก ก็มุ่งมั่นสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ และคาดหวังว่าจะมีโอกาสขยายตลาดจากออนไลน์ไปสู่การขายหน้าร้าน ได้พบเจอพูดคุยแลกเปลี่ยนกับลูกค้า ตลอดจนเติบโตสู่ตลาดนานาชาติผ่านแพลตฟอร์ม Pinkoi และช่องทางอื่น ๆ เพื่อให้คุณค่าของธัญพืชควินัวสีแดงสายพันธุ์ไต้หวันนี้ เติบโตไปได้ไกลพร้อมกับแบรนด์ ISUNEED ที่ใส่ใจความต้องการของแม่และเด็ก
รางวัลชนะเลิศ: GINZA ARTWORKS tokyo การสืบทอดศิลปะมาสเตอร์พีซของศิลปินไร้ชื่อเสียง
แบรนด์ GINZA ARTWORKS tokyo จากญี่ปุ่น เกิดจากการพัฒนาโปรเจคภายในองค์กรของไดเร็กเตอร์ TOMOKI KURIMOTO เมื่อครั้งที่ยังอยู่ในบริษัทเก่า ซึ่งแต่เดิมเป็นบริษัทเกี่ยวกับโฆษณา ที่ศึกษาว่าโฆษณาแบบใดที่สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้ด้วยงานดีไซน์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจค GINZA ARTWORKS tokyo ที่ถ่ายทอดศิลปะภาพพิมพ์แกะไม้หรือ “อุกิโยเอะ (Ukiyo-e)” ในยุคเอโดะลงบนภาชนะเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อสืบสานต้นกำเนิดและพลังของ “การออกแบบเชิงพาณิชย์” ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นผ่านภาชนะร่วมสมัย
หลังจากที่ได้รับรางวัล PDAs สาขา Culture Award แล้ว KURIMOTO กล่าวอย่างถ่อมตัวว่า การที่ได้ถ่ายทอดศิลปะยุคเอโดะของศิลปินไร้ชื่อเหล่านี้ผ่านการประกวดในครั้งนี้ ถือเป็นเกียรติต่อแบรนด์อย่างมาก
นอกจากการถ่ายทอดความหมายของวัฒนธรรมแล้ว สินค้าของ GINZA ARTWORKS tokyo นั้นแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ที่ได้มีการนำศิลปะจาก Hokusai มาถ่ายทอดลงบนสินค้าอย่างมากมาย เพราะ GINZA ARTWORKS tokyo ตั้งใจสืบทอดผลงานของศิลปินไร้ชื่อเสียงในยุคนั้นแทน ซึ่ง KURIMOTO มองว่าผลงานของศิลปินชื่อดังอาจยิ่งทำให้รู้สึกถึงความเหินห่าง ขณะที่ผลงานของศิลปินไร้ชื่อเสียงนั้นเข้าถึงชีวิตประจำวันคนทั่วไปได้ดียิ่งกว่า
ในด้านเทคนิค KURIMOTO เล่าว่า ญี่ปุ่นมีเทคนิคดั้งเดิมมากมายหลากวิธี หนึ่งในนั้นคือการทำเครื่องปั้นดินเผามิโนะยากิ (mino ware) ซึ่งเหมาะกับการผลิตคราวละมากๆ และยังเหมาะกับการพิมพ์ภาพพิมพ์แกะไม้ลงไป ด้วยเหตุนี้สินค้าของ GINZA ARTWORKS จึงใช้วิธีผลิตแบบมิโนะยากิทั้งหมด
“ในการออกแบบและกระบวนการผลิตนั้น เราใช้ภาพพิมพ์และเทคนิคดั้งเดิมของญี่ปุ่น และในการเลือกภาพพิมพ์แกะไม้มาใช้นั้นก็คำนึงถึงความเชื่อมโยงระหว่างยุคในอดีตและปัจจุบันด้วย เช่น การเปลี่ยนผันของสี่ฤดูกาล สัตว์และต้นไม้ แมลงต่าง ๆ ภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ หรือเกอิชา เป็นต้น เราหวังว่าวัฒนธรรมเก่าแก่เหล่านี้จะสามารถเข้าถึงวิถีชีวิตของผู้คน และทำให้ผู้บริโภคเปิดรับวัฒนธรรมเหล่านี้มากขึ้น”
รางวัลรองชนะเลิศ: GIAN Furniture สืบทอดงานฝีมือ ใส่ความอบอุ่นและวัฒนธรรมลงในเฟอร์นิเจอร์
GIAN มาจากคำว่า ARTIGIANO ในภาษาอิตาลีที่แปลว่า “ช่างฝีมือ”
ก่อนที่จะมีแบรนด์ GIAN เกิดขึ้น โรงงานแห่งนี้เดิมทีเป็นโรงงานที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์มานานกว่า 30 ปีแล้ว จนกระทั่งปี 2019 พวกเขาได้เชื่อมการดีไซน์แบบไต้หวันและช่างยอดฝีมือท้องถิ่นเข้าด้วยกันและก่อตั้งเป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไต้หวันที่ชื่อว่า “GIAN”
Deng Zi Xuan นักออกแบบของ GIAN เล่าว่า ผู้ก่อตั้งให้ความสำคัญกับการผลิตเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุท้องถิ่นของไต้หวัน หากมองย้อนกลับไป อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไต้หวันในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จากยุครุ่งเรืองที่ค่อยๆ เริ่มกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กและมีความประณีตในยุคปัจจุบัน และในปี 2019 ผู้ก่อตั้งได้เริ่มต้นจากความต้องการเชื่อมโยงความสามารถในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ของคนไต้หวันกับการออกแบบไว้ด้วยกัน ศึกษาความเป็นไปได้ของวัสดุต่างๆ เลือกใช้ไม้จริงและหนังแท้อนิลินเป็นหลัก เพื่อสร้างแบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้านสัญชาติไต้หวัน
“แบรนด์เริ่มจากเป็นเพียงแผนกหนึ่งในบริษัทและเริ่มต้นสร้างนวัตกรรมขนาดเล็ก” Deng Zi Huan เล่าว่าอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของโรงงาน OEM (Origianl Equipment Manufacturer) ที่เก่าแก่นั้น คือเราจะหยิบเอาแนวคิดและมุมมองในยุคใหม่แบบไหนมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างเฟอร์นิเจอร์รูปแบบใหม่ที่มีความสร้างสรรค์และล้ำหน้าออกมา “ช่วงแรก ๆ เราต้องมีเหตุผลมาโน้วน้าวผู้ใหญ่ เพื่อให้เขาเข้าใจว่าสิ่งนี้เหมาะกับตลาดในปัจจุบันและสามารถผลิตได้จริง ขณะเดียวกัน เราก็เจอปัญหาทรัพยากรไม่เพียงพอในเฟสแรกของการพัฒนาแบรนด์ อีกทั้งเรายังจำเป็นต้องมีความสามารถในการออกแบบเพื่อสื่อสารกับตลาด โดยใช้แนวคิด “ดีไซน์ที่ดี” ผลักดันตัวสินค้าให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น”
หลังจากผ่านอุปสรรคมากมายมาได้ ตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปัจจุบัน GIAN ได้ผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ประณีต มีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่อย่างโซฟา โต๊ะไม้ เก้าอี้ยาว ไปจนถึงของใช้ในบ้านขนาดเล็กอย่าง กล่องใส่ทิชชู่ ที่รองเมาส์ รองเท้า ฯลฯ Deng Zi Huan บอกกับเราว่า GIAN คาดหวังที่จะผลิตสินค้าที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้นเพื่อให้กลุ่มผู้บริโภคอื่นๆ รู้จักแบรนด์มากขึ้น
เมื่อถามถึงความรู้สึกและสิ่งที่ได้จากการประกวด PDAs ในครั้งนี้ Deng Zi Huan กล่าวว่า Pinkoi เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชแรกที่ GIAN ร่วมงานด้วย การได้รับรางวัลนี้ยิ่งทำให้พวกเขามั่นใจว่า GIAN กำลังค่อย ๆ ค้นพบเอกลักษณ์ของตัวเอง และเริ่มกำหนดสไตล์และทิศทางของแบรนด์ อีกทั้งยังสามารถสืบทอดงานฝีมือเฟอร์นิเจอร์ดั้งเดิมของไต้หวัน ผสมผสานเข้ากับการออกแบบยุคปัจจุบัน ขยายสู่ทิศทางที่เหมาะกับการพัฒนาต่อไป “เราดีใจที่ได้รับรางวัล Culture Award ในครั้งนี้ ด้วยพื้นเพของดีไซเนอร์แต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของเราจึงมาจากประสบการณ์ชีวิตและการสังเกตของตัวเอง คุณจะเห็นภาพและความทรงจำของไต้หวันอย่างชัดเจน ซึ่งเรารู้สึกดีใจที่สิ่งเหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดไปถึงกรรมการ กลุ่มตลาด และผู้บริโภค”
เริ่มต้นจากความต้องการของคนไต้หวัน การจัดวางและตกแต่งภายในบ้าน และความทรงจำอันคุ้นเคยของวัฒนธรรม GIAN ยังคงยึดมั่นคงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของช่างฝีมือท้องถิ่น ถ่ายทอดคุณภาพเทคนิคของงานฝีมือ หนังและไม้ผ่านเฟอร์นิเจอร์ ให้เฟอร์นิเจอร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งตกแต่งภายใน และเป็นอีกหนึ่งสมาชิกสำคัญของบ้านเช่นกัน
| ดูรายชื่อผู้ชนะการประกวดที่: Pinkoi Design Awards 2023
บทความ: Shopping Design